วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สู่การเรียนรู้ใหม่ 'อี-เลิร์นนิ่ง'


การเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษา ทั้งด้านหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ ของกระทรวงศึกษาธิการ มีจุดประสงค์ เพื่อให้เยาวชนไทย ได้พัฒนาตัวเอง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

การปฏิรูปการศึกษาเบื้องต้นตั้งแต่ระดับประถม ต้องการให้เยาวชนคนไทยมีระบบความคิดที่มั่นคงในอนาคต ปัจจุบันโลกแห่งการเรียนรู้เปิดกว้างในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ รวมถึงความรู้ด้านอื่นๆ เป็นอีกทางเลือกของผู้เรียนสามารถค้นคว้าจากฐานข้อมูลที่ทันสมัย

การเรียนรู้แบบออนไลน์หรือ อี -เลิร์นนิ่ง เป็นระบบการเรียนรู้ที่เข้ากับยุคสมัยการเติบโตของเทคโนโลยี ซึ่งระบบการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า
โครงการการเรียนรู้แบบออนไลน์ ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาให้บริการการเรียนรู้ และฝึกอบรมแบบใหม่ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า การเรียนรู้แบบออนไลน์ (e - Learning)
ออนไลน์ (e - Learning)
โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ต้องการสนับสนุนให้สถาบัน หน่วยงาน ได้รับการเผยแพร่บทเรียนที่มีคุณค่าให้กับผู้เรียนทุกคน ซึ่งผู้เรียนจะได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ ด้วยการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อให้เป็นคนที่เหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งต่างๆ หรือเพิ่มโอกาสในการรับตำแหน่งที่สูงขึ้น และสามารถเรียนได้ในช่วงเวลาว่างหลังเลิกงานหรือในวันหยุด

แม้กระทั่งการอยู่ร่วมกับครอบครัวที่บ้าน ก็สามารถประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานศึกษาที่เปิดสอนหลังเลิกงาน หรือเลิกเรียนเราก็สามารถพัฒนาตนเองได้ และที่สำคัญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระตุ้นหน่วยงานภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชน ได้เพิ่มการลงทุนทางด้านการศึกษาและฝึกอบรมแก่องค์กรให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศ และเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถพัฒนาเป็นบทเรียนออนไลน์เผยแพร่ขยายความรู้ออกไปสู่สาธารณชน
สุรสิทธิ์ วรรณไกรโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการการเรียนรู้แบบออนไลน์ สวทช. กล่าวว่า
การศึกษาแบบ e - Learning มาจากคำว่า Electronic Learning ซึ่งก็หมายถึงการศึกษาผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต ( Internet) หรืออินทราเน็ต (Intranet) เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบใหม่ที่จัดการศึกษาในลักษณะสถานศึกษาเสมือน (สถาบันที่จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยอาศัยการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต)

ผู้เรียนสามารถเรียนได้จากเวบไซต์ของโครงการ (WWW.Thai2Learn.com ) ด้วยระบบแนะแนวการศึกษา ระบบลงทะเบียน บทเรียนออนไลน์ คลังข้อสอบ และการบันทึกติดตามตรวจสอบผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากผู้เรียนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการเรียนก็สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโครงการซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมจะให้คำแนะนำ และตอบปัญหาต่างๆ ได้ตลอดเวลา
หากเกิดความสงสัยเกี่ยวกับเนื้อหาของบทเรียนก็สามารถสอบถามได้จากอาจารย์ผู้สอนโดยตรง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถ และความสนใจของตน โดยใช้มัลติมีเดียในการนำเสนอเนื้อหาของบทเรียน ซึ่งประกอบด้วยข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Brow Ser โดยผู้เรียน ผู้สอน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้ เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ
"เครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย (e - mail, web-board, Chat) จึงเป็นการเรียนในชั้นเรียนปกติ เรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ ซึ่งผมมองว่าจะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แห่งใหม่ขึ้นมาได้ และการเข้าสมัครเรียนแบบออนไลน์ก็เป็นวิธีที่ง่ายๆ สะดวกกับผู้เรียนเพียงสมัครเข้าสู่ระบบเรียนออนไลน์ ต่อจากนั้นจะได้ pin code และ password ก็เข้าสู่การเรียนแบบออนไลน์ได้ทันที"

สุรสิทธิ์ แสดงทัศนะว่า
ปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตมีบทบาทกับคนไทยมากขึ้น ในโรงเรียนอนุบาลก็เริ่มมีการเปิดสอนคอมพิวเตอร์ การมีพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดี ผนวกกับค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่นับวันจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะขยายกลุ่มผู้เรียนให้มากขึ้น จนเรียกได้ว่า e - Learning มีส่วนช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิตของคนไทยได้

"ผมมองว่าการเรียนแบบ e-Learning จะเข้ามามีส่วนในการผสมผสานกับการเรียนในห้องเรียน เช่น นักเรียนในห้องเรียนสามารถเข้ามาค้นคว้าเพิ่มเติมความรู้ได้เอง หลังจากเลิกเรียน หรือแม้กระทั่งในวันหยุดเป็นการสร้างนิสัยรักการค้นคว้า นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาในการเรียนปกติ เช่น ผู้ที่ทำงาน ได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น การเปิดโอกาสทางการศึกษา ยิ่งเปิดกว้างขึ้นเท่าใด ผู้เรียนยิ่งได้รับผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น"
อย่างไรก็ตามการเรียนในรูปแบบแบบ e - Learning ผู้เรียนต้องบังคับตัวเองเพื่อให้เข้าเรียนตามกำหนดเวลาที่ตนเองวางไว้ โดยโครงการจะมีใบรับรองผลการเรียน ซึ่งจำเป็นต่อผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการสมัครงาน หรือเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น

การนำ e - Learning มาใช้ในการฝึกอบรม ควรให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมได้มีส่วนร่วมในการวางแผน และตัดสินใจในการดำเนินงานด้านอี-เลิร์นนิ่งด้วย ระบบดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความสนใจ และประสิทธิผลของการเรียนในชั้นเรียนปกติ หรือใช้เป็นหลักสูตรปูพื้นความรู้ก่อนจะเข้าสู่ห้องเรียนได้ โดยเจ้าหน้าที่ควรได้รับคำแนะนำ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าอี-เลิร์นนิ่ง จะช่วยให้วิทยากรผู้สอนทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยระบบดังกล่าว สามารถนำมาประกอบการอบรมได้

ด้วยลักษณะของอี-เลิร์นนิ่ง หากฝ่ายฝึกอบรมนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์ที่ดีด้วย
ปัจจุบันหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชน เริ่มให้ความสนใจการอบรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีสาขาในต่างจังหวัด เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการอบรมได้สูง ในขณะนี้สำนักงานพัฒนาข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม และได้จัดทำหลักสูตร การวางแผนกลยุทธ์ โดยให้หน่วยงาน สวทช. เป็นผู้ผลิตหลักสูตรดังกล่าว และจะเปิดอบรมในเร็วๆ นี้

เทคโนโลยีใหม่ อี-เลิร์นนิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มนุษย์สามารถค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น แต่ต้องรู้จักเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

อ้างอิง : สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี <สวทช>


ขอบคุณ: บทความการศึกษา วันที่ 24 มีนาคม 2552 อักษรเจริญทัศน์ (อจท)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น